ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ ผู้ที่ ร.9 ทรงวางพระทัยให้เป็น “หัวหน้าพระเครื่องต้น”

ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ หัวหน้าพระเครื่องต้น ใน รัชกาลที่ 9
ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ หัวหน้าพระเครื่องต้นในรัชกาลที่ 9
ผู้เขียนสุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
เผยแพร่

หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรในปลาย พ.ศ. 2494 กิจกรรมในราชสำนัก อาทิ ด้านอาหาร ก็นับว่าคึกคักอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงนั้น คือ 2 พี่น้องตระกูลชุมสาย ได้แก่ ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ และ ม.ล.เติบ ชุมสาย ซึ่งท่านแรกนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็น “หัวหน้าพระเครื่องต้น” ในรัชกาลของพระองค์

ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ หัวหน้าพระเครื่องต้นในรัชกาลที่ 9

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์อิสระ ที่สนใจศึกษาข้อมูลเรื่องตำรับตำราอาหารชาววัง เล่าไว้ในผลงานเรื่อง“ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

ทั้งม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ (พ.ศ. 2444-2508) และม.ล.เติบ ชุมสาย (พ.ศ. 2456-2529) เป็นธิดาของพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (ม.ร.ว. ถัด ชุมสาย) กับคุณหญิง (ติ๊ โภคาสมบัติ)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (2427-2477)

เมื่อครั้ง ม.ล.ติ๋ว ยังเยาว์วัย ได้ศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา แต่พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์คิดจะส่งธิดาเข้าไปอยู่ในวังกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการปรุงอาหารอย่างยิ่ง ทว่าคุณหญิงทัดทานไว้

ถึงอย่างนั้น ม.ล.ติ๋ว ก็ยังได้ติดตามมารดาไปเข้าเฝ้าอยู่เสมอ และได้รับความรู้จากพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท เนื่องด้วย“พระองค์นี้ทรงเป็นพหูสูต และทั้งไม่ทรงหวงวิชาโดยเฉพาะการครัว”

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค หรือเดิมคือ ม.ล.มณีรัตน์ สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2465-2543) เขียนรำลึกถึง ม.ล.ติ๋ว เรื่องภารกิจสำคัญในสถานะ“หัวหน้าพระเครื่องต้น” ของรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ฯ ประสูติแล้วไม่นาน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พี่ติ๋วเข้าเป็น ‘หัวหน้าพระเครื่องต้น’ ในปี พ.ศ. 2497 ขณะนั้นยังประทับอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทุกคราวที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ภายในประเทศ พี่ติ๋วได้ตามเสด็จไปควบคุมเครื่องต้นเสมอ ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่า เมื่อเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคกลางเป็นแห่งแรกที่จังหวัด สุพรรณ ชัยนาท และอยุธยา ฯลฯ นั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพี่ติ๋วเป็นครั้งแรก …

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เริ่มที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก่อน คือ สาธารณรัฐเวียดนามใต้ อินโดเนเซีย และพม่า พี่ติ๋วก็ได้ช่วยเหลือร่วมมือกับทางสถานทูตไทยในการเลี้ยงพระราชทานตอบเป็นอย่างดี…ฝ่ายเราก็มีอาหารไทยจากห้องเครื่อง คือ ห่อหมกใส่กระทงเจิมอย่างสวยงาม และไอศกรีมกะทิ ในผลมะพร้าวเล็กๆ สลักเสลาน่าดูออกรับแขกจนได้รับคำชมเชยเป็นอันมาก…ในคราวเสด็จฯ ยุโรป และอเมริกานาน 8 เดือนครั้งที่แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พี่ติ๋วตามเสด็จด้วย…

พี่ติ๋วรับราชการดูแลพระเครื่องต้นด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวังพร้อมไปหมดทั้งในด้านความสะอาด ความปลอดภัย และคุณค่าของอาหาร”

ม.ล.เติบ ชุมสาย น้องสาว ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์
ม.ล.เติบ ชุมสาย น้องสาว ม.ล.ติ๋ว (ภาพ Wikimedia Commons)

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ยังบรรยายให้เห็นภาพของห้องครัวราชสำนักยุคนั้นไว้ด้วยว่า

ห้องเครื่องในเขตพระตำหนักจิตรลดาฯ แบ่งออกเป็น 3 หน่วย คือ ห้องเครื่องต้นไทย ห้องเครื่องต้นฝรั่ง และครัวข้าราชบริพาร

เครื่องต้นแต่ละเวลานั้น เชิญพร้อมกันทั้งไทย และฝรั่ง เริ่มต้นด้วยเครื่องฝรั่งก่อน แล้วตามด้วยเครื่องไทย เครื่องไทยที่ ม.ล.ติ๋ว ควบคุมมี 4 เวลา คือ เครื่องเช้า กลางวัน บ่าย และค่ำ เครื่องกลางวัน และค่ำมีครั้งละ 4 สิ่ง คือ แกง ผัด ของจาน และเครื่องจิ้ม

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โปรดเสวยพระกระยาหารไทยอย่างธรรมดา ไม่วิจิตรพิสดารอย่างที่บางคนคาดคิดไว้ เช่น เสวยผัดถั่วงอก ผัดผักบุ้ง และโปรดใส่หมู กุ้ง แต่น้อยๆ ด้วย เพราะเคยรับสั่งว่า ถ้าใส่มากก็ไม่น่าให้ชื่อผัดผักชนิดนั้นๆ”

เมื่อ ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ ถึงแก่อนิจกรรมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดให้รวบรวมบทบรรยายของ ม.ล.ติ๋ว ระหว่าง พ.ศ. 2496-2497 ที่ถ่ายทอดผ่านรายการอาหารประจำสถานีวิทยุ อ.ส. (อักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน) มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ“อาหารทางวิทยุ” เพื่อเป็นอนุสรณ์งานศพ ม.ล.ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2508

ภายในเล่มมีเมนูต่างๆ อาทิ ข้าวนึ่ง หรือข้าวเสียโป รับประทานคู่กับเป็ดย่าง หมูซีอิ๊วปิ้ง กุนเชียง และผัดผักบุ้งกับเต้าหู้ยี้ ข้าวหน้าหมูแดงรับประทานกับแตงกวาดอง มันเทศต้มน้ำตาลใส รับประทานร้อนๆ

ที่สำคัญ ในหนังสือ “อาหารทางวิทยุ” ยังปรากฏชื่อ 2 เมนูจานด่วนยอดนิยมของคนไทยปัจจุบัน คือ ผัดไทยและผัดกะเพรา อีกด้วย

หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูดของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค มีการจัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยผู้เขียนบทความออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!!สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 2 เมษายน 2568